• HOME
  • MAGAZINE
    Engineering Today Electricity & Industry Magazine อินทาเนีย Green network บรรจุภัณฑ์ไทย วารสารเหมืองแร่ วารสารลูกฟูกไทย Science Tech
  • ABOUT US
  • AWARD
  • CONTACT US


iTAP สวทช. เปิดเวที ขยะเป็นทอง หนุนผลงาน Eco Product รับกระแส AEC

วันที่: 19 ธันวาคม 2555 | รายงานพิเศษ

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือ ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้เชี่ยวชาญจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนผู้ประกอบการไทย ออกแบบวัสดุเหลือใช้แปรเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ชูจุดขายสิ่งแวดล้อม เสริมจุดแข็งด้วยการออกแบบและการตลาดขนานการผลิตที่มีประสิทธิภาพ รับมือ AEC

สุวิภา วรรณสาธพ รองผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ด้านพัฒนาธุรกิจ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สนับสนุนผู้ประกอบการไทยผ่านโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นทอง รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้” เน้นแนวคิดการออกแบบวัสดุเหลือใช้แปรเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นสวยเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ มุ่งใช้เป็นจุดขายในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ด้วยใช้การออกแบบและการตลาดเป็นจุดแข็งคู่ขนานการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืน

อุตสาหกรรมไทยเป็นอุตสาหกรรมที่แต่เดิมมุ่งเน้นในด้านการผลิตหรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดปริมาณของเสียและเพิ่มคุณภาพสินค้าซึ่งในปัจจุบันการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการผลิตอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการรักษาตลาดที่ยั่งยืนได้ การให้ความสำคัญกับการทำการตลาดและการใส่ใจกับตัวผลิตภัณฑ์ด้วยการออกแบบจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้อย่างแท้จริง หนทางหนึ่งซึ่ง iTAP ได้ให้การสนับสนุนแก่อุตสาหกรรมไทย ได้แก่ การออกแบบหรือการเพิ่มมูลค่าเศษเหลือจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการ เปลี่ยนขยะเป็นทอง : รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้” ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ประกอบกับกระแสโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและการลดภาวะโลกร้อน ผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถจำหน่ายรวมทั้งส่งออกได้นั้น จำเป็นต้องเป็นสินค้ารักษ์โลกไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในเรื่องกระบวนการผลิต เทคโนโลยีที่ใช้งาน รวมทั้งคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงวัฏจักรชีวิตของวัสดุ (Cradle to Cradle)และเป็นการทำให้วงจรการผลิตและใช้วัสดุสมบูรณ์

ทั้งนี้ โครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นทอง : รับกระแสลดโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้” สำหรับปีงบประมาณ 2555 และ 2556 ได้มีการดำเนินงานใน 2 เฟส ซึ่งเป็นการให้คำปรึกษาด้านการเพิ่มมูลค่าเศษเหลือใช้ด้วยหลักการออกแบบ โดยผู้เชี่ยวชาญโครงการ ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต กล่าวถึง แนวคิดในการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการออกแบบ ว่า จุดเริ่มต้นของโครงการ เปลี่ยนขยะเป็นทองฯ มาจากความต้องการที่ iTAP และตนเองตระหนักว่าในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมมีเศษวัสดุเหลือทิ้งปริมาณมาก ทั้งๆที่เป็นของที่ต้องซื้อหาเข้ามาแต่ยังใช้ไม่ทันคุ้มค่าก็ทิ้งไป ซึ่งโครงการนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่

“จริง ๆ แล้วการลดของเสียไม่ใช่เพียงแค่แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่อาจทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มจากของที่มีอยู่โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง ซึ่งมีประโยชน์มาก และที่สำคัญอาจทำให้งานออกแบบของเมืองไทยมีความแตกต่างชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะกระแสรักษ์โลกกำลังเป็นที่นิยมอย่างตอนนี้ ทำให้สามารถหาผู้ซื้อสินค้าประเภท Eco-products ง่ายขึ้น”

สำหรับโครงการนี้ มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 2 เฟส จำนวนทั้งสิ้น 8 บริษัท ซึ่งในปัจจุบันได้มีความท้าทายใหม่ๆ จากเศษวัสดุที่หลากหลายมากขึ้น หรือเศษวัสดุจากภาคอุตสาหกรรมที่อาจคิดกันว่าไม่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบได้ อาทิ กระจก เศษแก้ว เศษเหล็ก อลูมิเนียม รวมทั้งวัสดุที่นำมาออกแบบได้อย่างสวยงามตลอดการ เช่น ไม้ เป็นต้น

ผศ.ดร.สิงห์ กล่าวต่อไปว่า การออกแบบโดยเฉพาะการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยการทดลองทดสอบค่อนข้างมากโดยเฉพาะเมื่อได้เศษวัสดุที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนการทำผลิตภัณฑ์จากเศษไม่เพียงแก้ปัญหาด้านเทคนิค แต่ยังเป็นการฝึกคิดนอกกรอบไปพร้อมๆ กัน ผู้ประกอบการที่ต้องการอยู่รอดจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความสามารถนี้ ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ต้องมาก แต่ต้องปรับความคิด ความตั้งใจมากพอสมควร

จากความพยายามระหว่างผู้เชี่ยวชาญและความร่วมมือร่วมใจของผู้ประกอบการทุกบริษัทนั้น ได้เป็นรูปธรรมผ่านการจัดแสดงผลงานต้นแบบของเฟสที่ 1 และ 2 จำนวน 8 บริษัท ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 22 ธันวาคม 2555 ณ บูธนิทรรศการ อาคารไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า รัชโยธิน ภายใต้แนวคิด Upcycling Exhibition ซึ่งภายในงานจะได้เห็นการใช้เทคนิคการออกแบบ สร้างสรรค์ผลงานที่ไม่คิดว่าจะสามารถนำมาผสมผสานกันได้มาทำให้เห็นว่า ผลจากการคิดนอกกรอบสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างไร



บริษัท เทคโนโลยี มีเดีย จำกัด
471/3-4 อาคารพญาไทเพลส ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400
E-mail : webmaster@technologymedia.co.th
Tel. 0-2354-5333, 0-2644-6649
Fax. 0-2640-4260

© 2019 TECHNOLOGY MEDIA CO.,LTD. All rights reserved.