ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มจธ. ติด 1 ใน 200QS World
วันที่: 29 พฤษภาคม 2556 |
รายงานพิเศษ


ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มจธ. ติด 1 ใน 200QS World University Rankings by Subject 2013
ในประเทศไทย ถนนหนทางที่ใช้เชื่อมระหว่างเมืองส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยางซึ่งมีลักษณะเป็นผิวทางแอสฟัลต์วางอยู่บนโครงสร้างคันทาง เมื่อใช้งานไปนานๆ ผิวทางอาจเกิดความเสียหายได้ เช่น เกิดรอยแตกรอยแยก มีรอยร่องล้อ ผิวทางขรุขระ เป็นลูกคลื่นไม่เรียบ บ้างก็เป็นหลุมหรือเป็นแอ่ง ซึ่งความเสียหายของถนนนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การอ่อนกำลังของดินเมื่อบวมตัวจากน้ำขังทั้งที่เกิดจากน้ำบนผิวทางซึมลงไปตามรอยแตกรอยแยก และจากน้ำท่วม บางครั้งเกิดจากรถบรรทุกที่น้ำหนักเกิน บางครั้งก็เกิดจากปริมาณการจราจรที่มากกว่าที่ได้ออกแบบไว้ ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบจะทำการซ่อมบำรุงเพื่อให้ถนนมีสภาพดี และปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนอยู่อย่างสม่ำเสมอ จึงจำเป็นที่จะต้องประเมินลักษณะความเสียหายและสาเหตุของความเสียหายที่เกิดขึ้นเสียก่อน เพื่อที่จะได้เลือกวิธีการซ่อมบำรุงที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม จึงจะทำให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ด้วยเหตุนี้ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงร่วมกับ กรมทางหลวงชนบท พัฒนา“เครื่องวัดการแอ่นตัวแบบตกกระแทก” หรือ Falling Weight Deflectometer (FWD) ขึ้น เพื่อประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างคันทางถนนให้กับกรมทางหลวงชนบทไว้ใช้งาน ทดแทนการนำเข้าและแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือจากต่างประเทศที่มีราคาแพง
ผศ.ดร.วรัช ก้องกิจกุล หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเทคนิคธรณี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า เครื่อง FWD นี้ ได้พัฒนาให้ติดตั้งไว้กับรถตู้ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานของเครื่องมือมีประสิทธิภาพและมีความสะดวกต่อการใช้งาน นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้พัฒนาซอฟแวร์สำหรับการควบคุมการทำงานของเครื่องมือ การจัดเก็บข้อมูล และระบบการประมวลผล
ที่สำคัญ งานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาขึ้นภายใต้โจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานในประเทศ เพราะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ มาตรฐานและรูปแบบการก่อสร้างของแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน จึงกล่าวได้ว่าเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาที่ทำให้ได้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับงานทดสอบถนนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันได้ส่งมอบเครื่องดังกล่าวให้กับกรมทางหลวงชนบทนำไปใช้งานแล้วตั้งแต่ปลายปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และเตรียมขยายจำนวนเพิ่มขึ้นอีกต่อไปในอนาคต เพราะต้นทุนต่อเครื่องที่พัฒนาขึ้นอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาท ถูกกว่าถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับราคาเครื่องนำเข้าที่สูงถึงเครื่องละ 20 ล้านบาท
ผศ.ดร.วรัช กล่าวว่า นอกจากผลงานวิจัยดังกล่าวแล้วภาควิชาวิศวกรรมโยธา มจธ. ยังมีผลงานวิจัยอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก เช่น การพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับการวิเคราะห์ทางวิศวกรรมโครงสร้าง การศึกษาคุณสมบัติทางกลศาสตร์ของวัสดุเพื่อทดแทน และ/หรือ ปรับปรุงคุณภาพคอนกรีต การบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำ การวิเคราะห์การไหลในสภาพต่างๆ การพัฒนาแบบจำลองเพื่อการวิเคราะห์ปัญหาการจราจรและโลจิสติกส์ การบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง การศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคในงานวิศวกรรมสำรวจ เป็นต้น
ด้านศ.ดร.ชัย จาตุพิทักษ์กุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา มจธ.กล่าวเพิ่มเติมว่าภาควิชาวิศวกรรมโยธานั้น มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากงานทางด้านวิศวกรรมโยธา เป็น 1 ใน ปัจจัย 4 ของการดำรงชีพ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับที่อยู่อาศัย และยังครอบคลุมถึงถนนหนทาง สะพาน เขื่อน อุโมงค์รถใต้ดิน หรือแม้กระทั่งโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพื่อยกระดับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลกำลังทำ ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมโยธาในงานสำรวจ ออกแบบ และการก่อสร้าง ดังนั้นนักศึกษาที่จบด้านนี้จะเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคตอย่างสูงมาก ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม
ด้านงานวิจัยของภาควิชาวิศวกรรมโยธานั้น มีการส่งเสริมเรื่องงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่องและยังสนับสนุนให้มีการนำผลงานไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีผลกระทบสูงเป็นจำนวนมากและกล่าวได้ว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับที่อื่น ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา QS World University Rankings by Subject 2013 ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกใน 200 อันดับแรกตามสาขาวิชาต่างๆ โดยสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา (Engineering-Civil & Structural) ของ มจธ. ได้รับการจัดอันดับที่ 101-150 ในกลุ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และนับเป็นครั้งแรกของ มจธ. ที่ได้รับการจัดอันดับให้ติดอยู่ในกลุ่ม 200 อันดับแรกของโลก
ศ.ดร.ชัย กล่าวถึงการได้รับการจัดอันดับในครั้งนี้ว่า หากพิจารณาตามเกณฑ์สัดส่วนของคะแนนการจัดอันดับในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มจธ.ได้คะแนนสัดส่วนอ้างอิงต่อผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ (H-INDEX) มจธ.ได้คะแนนในด้านนี้ถึง 69.8 % และการพิจารณาการอ้างอิงผ่านงานวิจัยต่อชิ้น (Citations per paper) ได้คะแนน 69.5 % ซึ่งค่อนข้างสูงมาก นั่นเป็นเพราะ มจธ. มีงานวิจัยด้านวิศวกรรมโยธาที่เน้นในระดับนานาชาติ และเป็นที่ยอมรับรวมถึงได้รับการอ้างอิงจำนวนมาก นั่นแสดงให้เห็นว่างานวิจัยของ มจธ. นอกจากจะมีจำนวนที่มากแล้วยังมีคุณภาพที่สูงด้วย
ปัจจุบันภาควิชาวิศวกรรมโยธา มีอาจารย์วุฒิปริญญาเอก 27 คน จากอาจารย์ทั้งหมด 31 คน มีศาสตราจารย์ 3 คน รองศาสตราจารย์ 8 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 9 คน และอีกจำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างการขอตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการรับอาจารย์ที่มีคุณภาพ และสนับสนุนให้ทำงานวิจัยเพราะถือว่าผลงานวิจัยเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาด้านการเรียนการสอน อาจารย์พร้อมที่จะแสวงหาความรู้ รวมทั้งวิวัฒนาการใหม่ๆ ไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษา รวมทั้งยังมีกิจกรรมสำหรับนักศึกษาที่เข้มแข็ง นอกจากสร้างบัณฑิตที่เก่งภายใต้กระบวนการเรียนการสอนแล้ว มจธ. ยังสร้างบัณฑิตที่ดีผ่านกระบวนการกิจกรรมต่างๆ